วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ฺฺBrochure ( โบรชัวร์ ) ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ

Version Thai.






Version English.



การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 10 (จบ)

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 9

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 8

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 7

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 6

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 5

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 4

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 3

คอกหมักไรแดง  (อาหารปลา)



 เราทำเป็นคอกหมักมูลสัตว์ไว้ที่ริมขอบสระน้ำ  เนื่องจากจังหวัดทหารบกกาญจนบุรีมีชมรมขี่ม้าซึ่งในแต่ละวันจะมีมูลของม้าเป็นจำนวนมาก  ทางศูนย์การเรียนรู้จึงได้นำมูลม้ามาหมักเอาไว้  ผลจากการหมักมูลม้าจะทำให้เกิดไรแดง  ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีสำหรับลูกปลาในสระน้ำ  เป็นการประหยัดค่าอาหารปลา
โดยนำมูลม้าสดจากคอกม้า  หรืออาจะค่อนข้างแห้งก็ได้  นำมาเทใส่ไว้ในคอกริมน้ำ  อาจจะต้องมีสิ่งกดทับบ้างเพื่อป้องกันการลอยตัว   หมักไว้ประมาณ  5-7 วัน ก็จะเกิดไรแดงเกิดขึ้น  ลูกปลาก็จะมากินไรแดงเหล่านี้  เป็นการช่วยอนุบาลปลาเล็กได้


การรดน้ำด้วยระบบน้ำหยดจากรางไม้ไผ่


      จากจักรปั่นสูบน้ำ  น้ำจะถูกสูบขึ้นมาเก็บไว้ที่ถังพักน้ำแห่งนี้และจะถูกปล่อยไปตามรางไม้ไผ่  ณ  จุดที่ปลูกต้นไม้     ซึ่งในระยะแรกต้นไม้ที่ปลูกไว้มีความต้องการน้ำมากเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น    จึงต้องเจาะรูรางไม้ไผ่ทำให้น้ำหยดลงไปยังต้นไม้ที่ปลูกไว้นั้น   อันเป็นวิธีการที่เรียบง่ายใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น    จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานคน


พื้นที่แก้จน



           เป็นการแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการพื้นที่  แม้มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยเราก็สามารถที่จะจัดการพื้นที่นั้นให้เป็นแปลงพืชผักสวนครัว  โดยอาจจะเป็นเพียงพื้นที่แค่  1  ตร.เมตร  ก็สามารถมีพืชผักสวนครัวไว้รับประทาน  ปลูกต้นกล้วยไว้กลางพื้นที่เพราะกล้วยเป็นพืชชุ่มน้ำ  รอบโคนต้นกล้วยก็ปลูกพืชผักสวนครัว  เช่น  สะระแหน่  พริก  คะน้า  ผักกาด  ต้นหอม  กระเทียม  โหระพา  ตะไคร้  มะเขือ    ด้านมุมทั้งสี่ก็ปลุกไม้หลักเช่น  แค  มะละกอ  โสน   ยอ  เป็นต้น
แล้วถ้าหากเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นมา    ก็นำหลักการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กที่แสดงไว้ไปคิดต่อยอดขยายผล  ก็สามารถที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในเศรษฐกิจพอเพียง  อาจจะเป็นพื้นที่ 1  ไร่ สร้างรายได้ให้ 1  แสนบาท  เป็นต้น 


สัตว์เลี้ยงใต้พิภพ



       สัตว์ดังกล่าวคือไส้เดือนดิน   ไส้เดือนนั้นเปรียบเสมือนลำไส้ของผืนดิน   ช่วยในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้กลับมาเป็นสารอาหารที่สำคัญแก่พืชหรือต้นไม้ ไส้เดือนดินที่ทางศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ  นำมาเพาะเลี้ยงเป็นสายพันธุ์แอฟริกัน  ไนท์ ครอฟเลอร์  หรือ เอเอฟ AF เป็นสายพันธุ์ที่ให้การเพาะขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นใด

ประโยชน์  เราจะได้น้ำสกัดชีวภาพจากไส้เดือนนำมาผสมรดพืชผักได้ผลดี   ส่วนมูลไส้เดือนคงนำไปผสมกับดินเพื่อการปลูกพืชให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์แก่ต้นไม้ให้ผลเจริญเติบโตอย่างดี 

สรรพคุณทางยาสมุนไพร    นำมาล้างให้สะอาด  ตากแห้ง  หรือเผาเป็นเถ้าปรุงยา  ทั้งตัว  รสเค็มมัน  ต้มน้ำดื่มหรือทำเป็นเม็ด  บำรุงตับ  แก้อัมพาตครึ่งซีก  แก้โรคไทฟอยต์  แก้พิษงู    ลดความดันเลือด  แก้ชักเฉียบพลันหรือเรื้อรัง  แก้ตะคริว  แก้ปวดฟัน  แก้หูอักเสบ

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 2

ป้ายศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ



การจะเริ่มทำงานสิ่งใดภายในศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์   จะต้องมีการศึกษาข้อมูลจากหลายๆ ด้าน ทั้งข้อมูลเอกสาร  ตำรา  หรือจากผู้รู้ในด้านต่างๆ  ก็เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน  ในหลายๆเรื่องยังจะต้องเดินทางไปดูงาน  ศึกษาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ  และเอามาปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่
จากหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะการที่คิดจะกระทำโครงการใดขึ้นมานั้นจะต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมลต่างๆอย่างละเอียด  เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อรายละเอียดนั้นๆ  แล้วจึงลงมือลองปฏิบัติ  เมื่อปฏิบัติหลายๆครั้งจึงได้เกิดผลสำเร็จเป็นที่เชื่อมั่นได้   จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริต่อโครงการนั้นๆ  ในปัจจุบันนี้นับถึงปี  พ.ศ. ๒๕๕๓  งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีถึง  ๔,๘๕๓  โครงการ


ป่า  3  อย่าง  ประโยชน์  4  อย่าง


การปลูกป่า  3  อย่าง  คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย  ป่าสำหรับเป็นไม้ผล  และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง  นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์อย่างที่ 4  อันเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย


จักรยานปั่นน้ำ


เป็นการปั่นจักรยานเพื่อสูบน้ำขึ้นจากสระน้ำใหญ่  เป็นการประหยัดพลังงาน  และยังเป็นการออกกำลังกายอีกด้วย  เครื่องสูบน้ำมีกำลัง 1,500 ลิตร  ต่อชั่วโมง  สามารถปั่นน้ำโดยใช้เวลาประมาณ 50 นาที  จะปั่นน้ำขึ้นถึง 1,000 ลิตร  สามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้เป็นอย่างดี   เป็นกรเสนอแนวทางที่ให้ประหยัดเรียบง่ายได้ประโยชน์สูงสุด


การให้อาหารปลา

 


ในทุกๆวันเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะนำอาหารที่ผลิตขึ้นเอง  โดยใช้เศษอาหารจากโรงเลี้ยงนำมาผสมกับรำละเอียด  และผสมคลุกเคล้ากับน้ำหมักชีวภาพ  EM  ปั้นเป็นก้อนหรือจะผ่านเครื่องรีดออกมาเป็นแท่ง-เม็ด  เป็นการช่วยประหยัดค่าอาหารปลาได้เป็นอย่างมาก  และยังเป็นการช่วยขจัดของเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย  คือเราจะพยายามนำทุกสิ่งที่เป็นของเหลือทิ้ง    นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
สำหรับการให้อาหารปลาในแต่ละวัน  กำหนดเป็น 2 เวลา   คือ   0800-1700


ซุ้มพอเพียง


เพื่อการบริหารการจัดการพื้นที่และสร้างร่มเงา  ตลอดจนความสะดวกต่อการเก็บพืชผล  ในซุ้มพอเพียงแห่งนี้  เรานำพืชตระกูลเถาเลื้อยนำเข้ามาปลูกไว้  เช่น  ฟักข้าว,น้ำเต้า,มะระ,แตง,เป็นต้น 
          โดยเฉพาะ  ฟักข้าว  ถือได้ว่าเป็นพืชที่ให้สารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก  ผลอ่อนนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่างเช่น  แกงเลียง  แกงกะทิ  หรือต้มราดกะทิจิ้มกับน้ำพริกจะช่วยลดความร้อนในร่างกายตอนเป็นไข้หรือร้อนในได้  สรรพคุณทางสมุนไพรไทย  ใบ  แก้ไข้ตัวร้อน  ถอนพิษอักเสบ  ตำพอกแก้ปวดหลัง  แก้ฝี  แก้พิษต่างๆ  เมล็ดคั่วให้กรอบกินเป็นยาบำรุงปอด  แก้ฝีในปอด  แก้ไอ  ขับปัสสาวะ  ราก  ต้มน้ำดื่มถอนพิษทั้งปวง  ถอนพิษไข้  ขับเสมหะ 
          นอกจากนั้นบริเวณพื้นที่ด้นล่างเราก็มีการปลูกผักสวนครัวไว้   เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งเป็นหลักสำคัญของเกษตรประณีต ที่มีการออม
          การออม   คือ  หลักการสำคัญของเกษตรประณีต   แต่ไม่ใช่การออมที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง  หากแต่เป็นการออมทรัพยากรธรรมชาติ  เริ่มจาก  ออมน้ำ  ต้องขุดบ่อ
รอบพื้นที่หรือขุดสระบาดาล   ต่อมาคือออมความสมบูรณ์ของดิน  ไม่เปิดหน้าดิน  ไม่ทำลายไส้เดือนดิน  ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี  ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักชีวภาพ  นอกจากนั้นก็ต้อง  ออมสัตว์เลี้ยง  กุ้ง หอย  ปู  ปลาไว้ในสระที่ขุด   เลี้ยงเป็ด  ไก่  โค กระบือ  และสุดท้าย  ออมต้นไม้  ต้องปลูกพืชให้หลากหลาย แบ่งพื้นที่นาข้าว  ทำโรงเพาะเห็ด  ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภค  แจกจ่ายและไว้ขาย   โดยพืชที่ปลูกไว้ขายต้องมีมากกว่า  10  ชนิด และปลูกไม้ดอกเพื่อความสดชื่น   ปลูกพืชสมุนไพรไว้รักษาโรค


การปลูกผักสวนครัวลอยน้ำ



             จากสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นมหาอุทกภัยสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทเรียนที่สำคัญในหลายๆเรื่อง   ซึ่งเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมเช่นนี้  สิ่งที่ประชาชนจะต้องมีการเตรียมการไว้ให้มีความพร้อมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานพอที่จะมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ  ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่พ้นในเรื่องอาหารการกิน  เราจะต้องมีการเตรียมการที่ดีคือมีการตระเตรียมอาหารรูปแบบต่างๆ  ของใช้ที่จำเป็น  เครื่องให้แสงสว่าง  ยารักษาโรค  เป็นต้น
          ในอนาคตประเทศไทยเราคงไม่พ้นวิกฤติน้ำท่วม   ทางศูนย์การเรียนรู้ฯได้ทดลองการปลูกพืชผักสวนครัวลอยน้ำ  โดยได้พัฒนามาจากแต่แรกที่ทดลองปลูกข้าวบนผิวน้ำ  ซึงเมื่อข้าวสุกแล้ว  จึงได้น้ำแพลูกบวบที่ใช้นั้นมาดัดแปลงเป็นแพปลูกพืชผักสวนครัวลอยน้ำแทน   โดยนำแสลมเก่ามาปูรองพื้นที่แพแล้วนำผักตบชวาที่มองเห็นว่าเป็นสวะไม่มีประโยชน์นำมาปูรองพื้นขึ้นมาให้มีความหนาประมาณ  ๕๐ เซนติเมตร   ควรจัดวางให้เป็นระเบียบให้มีความหนาเสมอดีแล้วจึงนำดินมาโรยฉาบกลบผักตบชวาให้มิด  ซึ่งก็หนาประมาณ  ๕  เซนติเมตร   สุดท้ายจึงนำน้ำหมักชีวภาพฉีดราดรดให้ชุ่ม  พักไว้ประมาณ ๓  วัน  จึงนำเมล็ดพันธุ์ผักที่ต้องการปลูก  เช่น  คะน้า  ตังโอ๋  ผักกาดขาวมาปลูก    ด้วยวิธีการนี้ทำให้เราประหยัดเวลาในการรดน้ำเพราะผักที่ปลูกบนแพนั้นย่อมได้รับความชื้นจากตัวผักตบชวาทางหนึ่งและจากการระเหยของน้ำอีกทางหนึ่งแต่ก็ควร
ดูแลบ้าง  ในบางช่วงที่อากาศแห้งก็ช่วยรดน้ำให้เล็กน้อย  ระยะเวลาประมาณ ๔๕ วันเราก็มีผักสวนครัวไว้รับประทานแล้ว

การพาเที่ยวชมศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ ตอนที่ 1

ป้ายการทำงานอย่างมีความสุข



ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว        ที่ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์  ตามแนวพระราชปรัชญา  ได้น้อมนำมาเป็นหลักลำดับแรกก็คือ    “การทำงานอย่างมีความสุข  ซึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า   ...ทำงานกับฉัน...ฉันไม่มีอะไรจะให้  นอกจากการมีความสุขร่วมกัน  ในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น...       พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นเป็นลำดับแรกซึ่งก็คือ  พสกนิกรของพระองค์นั่นเอง  งานโครงการพระราชดำริที่พระองค์คิดค้นเหล่านั้น  ล้วนแต่ต้องการเป็นแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน


ควายคู่เทียมเกวียน


            เป็นผลงานฝีมือของกำลังพล ที่ปั้นควายคู่นี้ขึ้นมาเป็นการบ่งบอกว่า  Back  to  basic  ก็คือวิถีชีวิตของเกษตรกรไทย  เพราะควายไทย  หรือ  ควายปลัก  กำลังลดจำนวนน้อยลง  (ควายปลัก)  เป็นควายไทยพันธุ์แท้ที่มีความทรหด  อดทน  เชื่อง  เลี้ยงง่าย  และมีความฉลาด  ควายนั้นเป็นสัตว์ที่ให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก  เพราะควายกินหญ้า  ทำหน้าที่เหมือน  เครื่องตัดหญ้า...มีชีวิต  มูลที่ถ่ายยังเป็นปุ๋ยให้แก่พืชได้อีก 
          ควายคู่เทียมเกวียนคู่นี้      เป็นควายแม่  และ ควายลูก  ตัวแม่นั้นชื่อว่า  มะลิ  ส่วนตัวลูกนั้นชื่อว่า  ทองคำ     กำลังเทียมเกวียนซึ่งเปรียบเสมือนกับศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ   ที่มีภาระหนักอึ้ง แต่ควายคู่นี้จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันลากเกวียนไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้จงได้  แม้ว่าในเล่มเกวียนจะไม่มีผู้บังคับ  ควบคุมให้ทำงาน  แต่ด้วยความพร้อมใจควายคู่นี้  ก็จะออกแรงกาย  แรงใจ  ทำงานของเขาอย่างมุ่งมั่น  นั่นคือสื่อแสดงให้เห็นว่า   “ การรู้จักหน้าที่ของแต่ละคน”


กรอบการปฏิบัติงาน

ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์   ตามแนวพระราชปรัชญา       ได้กำหนดวิธีการไว้ว่า  6  ส.    

คือ      ส.1    สนุกสนาน   การปฏิบัติงานให้เกิดความรู้สึกที่มีความสนุก  ไม่ตึงเครียด
          ส.2    สาระ     ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินการ  จะต้องกระทำอย่างมีเหตุมีผล
          ส.3   สมอง   จะต้องคิดวางแผน   ถึงเรื่องที่จะต้องกระทำ
          ส.4   สติ       จะต้องใคร่ครวญ  จัดเรียงลำดับงาน  วาดภาพลงรายละเอียด
          ส.5   สถาบัน    จะต้องยึดถือสถาบันพระมหากษัตริย์  ที่ทรงทุ่มเทเพื่อพสกนิกร
          ส.6   สามัคคี    จะต้องก่อให้เกิดความรัก  ความสามัคคีที่ดีต่อกัน


การแฝกหญ้าแฝก  (พืชมงคล   พืชพระราชทาน)


     เป็นพืชที่มีประโยชน์มาก  ด้วยคุณสมบัติที่เป็นหญ้ามีระบบรากหยั่งลึก  เป็นหญ้าแฝกพันธุ์ลุ่ม  รากยาวประมาณ  4-5  เมตร    และก้อนหินที่วางอยู่นั้นเป็นดานหินแม่รังซึ่งอยู่ใต้ผืนดินแห่งนี้   การปรับปรุงบำรุงดินก็โดยการใช้หญ้าแฝกปลูกไว้จะช่วยเจาะแผ่นดานหินลงไปหาความชื้น  ทำให้พืชเกิดการเจริญเติบโตได้
      ในที่นี้   ต้องการสาธิตแสดงให้เห็นว่าระบบหญ้าแฝก  เป็นพืชที่ให้การปรับปรุงบำรุงดินได้เป็นอย่างดี


ฝายในหลวง


     เป็นการสร้างฝายในหลวงภายในพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ ฯ เพื่อมุ่งหมายให้สร้างครูฝายของหน่วยมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับฝายชะลอความชุ่มชื้น  Check  Dam  นำไปแนะนำให้ประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆที่มีความต้องการสร้างฝายในหลวง
          ประเภทของ Check Dam  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงแยกออกเป็น 2  ประเภท   ดังพระราชดำรัส  ความว่า  มี   2  อย่าง  ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น  รักษาความชุ่มชื้น  อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...
          อาจกล่าวได้ว่า  ประเภทแรกคือ  ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น  ส่วนประเภทที่สองนั้น  เป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง
          ที่แลเห็นอยู่นั้น....เป็นรูปแบบฝายในหลวงประเภทต่างๆ  ทั้งที่เป็นประเภทฝายดักตะกอนและฝายชะลอความชุ่มชื้น

ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ฯ


ศูนย์การเรียนรู้ค่ายสุรสีห์ ตามแนวพระราชปรัชญา จังหวัดทหารบกกาญจนบุรี (Surasicamp Learningcenter )